วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เสด็จพระราชดำเนินเมืองสุราษฎร์ธานี

      เสด็จพระราชดำเนินเมืองสุราษฎร์ธานี นับแต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ เป็นต้นมา ทรงรับเอาธรรมเนียมจารีตประเพณี แต่ครั้งโบราณเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงได้รับพระบรมราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระบรมราชาธิราชโดยสมบูรณ์แล้ว จะพระราชทานวโรกาสให้พสกนิกรได้เข้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยทั่วถึงกันในพิธีเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระมหานคร ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อการคมนาคมสะดวกขึ้น นอกจากพระมหากษัตริย์จะเสด็จฯ โดยกระบวนพยุหยาตราเลียบพระนครแล้ว ยังได้เสด็จ ฯ ไปเยี่ยมราษฎรตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อทอดพระเนตรบ้านเมือง และสภาพชีวิตความเป็นอยู่ราษฎรของพระองค์ด้วยสายพระเนตรพระองค์เอง และให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๐๒ นับเป็นครั้งแรกในชีวิตของพสกนิกรชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมีของพระองค์อย่างใกล้ชิด เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดสุราษฏร์ธานีเป็นครั้งแรก และจากนั้นเป็นต้นมาการเสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดสุราษฏร์ธานีกระทั่งถึงปัจจุบันรวม ๑๕ ครั้ง

  ครั้งแรกของการเสด็จฯ เมืองสุราษฏร์ธานี วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งมายังจังหวัดสุราษฏร์ธานี และ ยังประทับแรม ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๐๒ เวลา ๘.๕๙ น. ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนิน ถึงศาลากลางจังหวัดสุราษฏร์ธานี นายฉลอง รมิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฏร์ธานี กราบบังคมทูลนำข้าราชกาลและราษฎรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทั้งสองพระองค์เสด็จออกประทับ ณ หน้ามุขศาลากลางจังหวัด ทรงมีพระราชดำรัสว่า ทรงยินดีมากที่มาเยี่ยมราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดในภาคใต้ทั้งหมด แล้วทรงขอให้อำนาจพระบรมธาตุไชยาและพระธาตุศรีสุราษฎร์คุ้มครอง ชาวสุราษฏร์ธานีให้มีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้น หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ทรงเยี่ยมราษฎร แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรขบวนแห่พระทางน้ำ ซึ่งทางจังหวัดได้จัดขึ้นโดยมีเรือพนมพระจากวัดต่างๆ มากมายเต็มลำน้ำแม่น้ำตาปี จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเขาท่าเพชร ทรงสักการะพระธาตุพระธาตุศรีสุราษฎร์ แล้วเสด็จพระราชดำเนินมายังตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อประทับรถไฟพระที่นั่งเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร


เสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๒
              ยามเช้าของวันที่  ๒๓  เมษายน ๒๕๐๕  ชายหาดทะเลเกาะพะงันเนืองแน่นไปด้วยผู้คนจำนวนมากเพื่อคอยชื่นชมพระบารมีของเจ้าเหนือหัว บ้างมานอนเฝ้ารอคอยตั้งแต่เมื่อคืน บ้างก็เตรียมของสำหรับทูลเกล้าถวาย กระทั่งเวลา ๐๙.๐๐ น. เรือพระที่นั่งจันทรมาถึงเกาะพะงันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์
ขณะยังทรงเยาว์ เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรภูมิทัศน์บริเวณอ่าวไทย และทรงเยี่ยมราษฎร  จากนั้นได้ประทับเรือหางยาวไปยังน้ำตกธารเสด็จ ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อย ภปร ลงบนแผ่นหินเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, ทรงจารึกไว้แต่ครั้งอดีต กระทั่งเวลาบ่ายจึงประทับเรือพระที่นั่ง เสด็จฯไปยังหมู่เกาะอ่างทอง และประทับแรมที่นั่น
              วันทื่  ๒๔ เมษายน ๒๕๐๕  เรือพระที่นั่งออกจากหมู่เกาะอ่างทอง มุ่งหน้ามายังอ่าวหน้าทอน อำเภอเกาะสมุย  เวลาประมาณ ๐๙. ๓๐ น.  เรือพระที่นั่งจันทรได้ทอดสมอบริเวณอ่าว
หน้าทอน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ ฯ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระราชชนนี ได้เสด็จลงประทับเรือเล็กมาเทียบสะพาน  ซึ่งเป็นสะพานไม้มะพร้าว  มีผ้าขาวปูบนสะพานเป็นลาดพระบาทตลอดทาง  ในวันนั้นเป็นวันที่น้ำทะเลลดลง จึงมีประชาชนจำนวนมากลงไปยืนรอรับเสด็จ
ในทะเลตามแนวสะพานทั้งสองด้านอย่างเนืองแน่นและเป็นระเบียบ พร้อมแปล่งเสียงไชโยถวายพระพร
              ทั้งสามพระองค์ได้เสด็จเยี่ยมเยียนประชาชนบริเวณอ่าวหน้าทอนอย่างทั่วถึงแล้วเสด็จขึ้นประทับบนมุขหน้าที่ว่าการอำเภอเกาะสมุย จากนั้นเสด็จขึ้นประทับรถยนต์พระที่นั่ง  ซึ่งหมายกำหนดทางเดิมทางอำเภอได้เตรียมรถยนต์ไว้เพื่อถวายเสด็จพระราชดำเนิน  แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  มีพระราชประสงค์จะประทับรถยนต์ที่ใช้ในท้องที่ จึงได้นำรถยนต์จิ๊ป หลังคาผ้าใบซึ่งใช้เป็นรถยนต์บรรทุกผู้โดยสาร หรือสิ่งของในเกาะสมุยของนายการุญ เรืองศรี  ราษฎรชาวตำบลแม่น้ำมาใช้เป็นรถยนต์พระที่นั่ง  โดยมี ร้อยตรีสมคิด  ไกรสินธุ์  หัวหน้าสถานีอนามัยอำเภอเกาะสมุยเป็นผู้ขับ  ขบวนรถพระที่นั่งเคลื่อนตัวช้าๆ ผ่านตลาดหน้าทอน  มาถึงบริเวณน้ำตกหน้าเมือง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้จารึกพระนามาภิไธยย่อ  ภปร  ลงบนกระดาษเพื่อนำไปแกะสลักประดิษฐานบนผาหินบริเวณน้ำตกต่อไป  แล้วเสวยพระกระยาหารกลางวัน  ณ น้ำตกหน้าเมือง จากนั้นได้เสด็จไปทรงนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ สำนักสงฆ์ศิลางูแล้วทรงพบปะเยี่ยมเยียนพสกนิกรอีกประมาณ
๑ ชั่วโมง จึงเสด็จกลับขณะที่เสด็จพระราชดำเนินกลับประชาชนที่มาคอยเฝ้าชมพระบารมีจำนวนมากนั้น  หลายคนถึงกับวิ่งตามเสด็จลงไปในทะเล บางคนถึงกับว่ายน้ำตามออกไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ  ทรงเป็นห่วงประชาชนจะได้รับอันตรายทรงโบกพระหัตถ์ให้กลับไปจนกระทั่งเรือพระที่นั่งเคลื่อนออกไปต่างคนจึงแยกย้ายกลับบ้านด้วยความปิติยินดีอย่างยิ่งในชีวิตการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเกรงว่าต่อไป อนาคตข้างหน้าเกาะสมุยจะขาดแคลนน้ำ ขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาป่า อย่าตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ


การเสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งกลับจากเยี่ยมเยียนพสกนิกรทางภายใต้ เมื่อรถไฟพระที่นั่งมาถึงสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี เหล่าพสกนิกรที่ทราบข่าว การเสด็จพระราชดำเนินผ่านมายังสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานีต่างเฝ้ารับเสด็จกันเนืองแน่น เมื่อขบวนรถไฟพระที่นั่งเทียบชายชาลา ในครั้งนั้นเนื่องจากมีประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งสองพระองค์จึงได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปยังสะพานข้ามทางรถไฟพร้อมโบกพระหัตถ์ทักทายประชาชนของพระองค์เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมีอย่างทั่วหน้า อันเป็นภาพประวัติศาสตร์มิรู้ลืมของชาวสุราษฎร์ธานี


การเสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๔ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดพระบรมธาตุไชยา เพื่อประกอบ พระราชพิธีวันวิสาบูชาหลังจากเสร็จพระราชพิธีทางศาสนา ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จออกเยี่ยมเยียนพสกนิกรที่มาเฝ้ารับเสด็จ ซึ่งมาจากหลากหลายอำเภอ แต่ละอำเภอจะตั้งโต๊ะหมู่บูชาตลอดทางเสด็จพระราชดำเนิน ภายใต้ปะรำที่ทางอำเภอจัดทำขึ้นโดยใช้โครงไม่ไผ่หลังคามุงด้วยทางมะพร้าวกันความร้อน ชาวบ้านบางคนใช้คำราชาศัพท์ไม่เป็น แต่อยากจะพูดคุยด้วย ทั้งสองพระองค์ได้ตรัสว่าไม่เป็นไร ใช้คำธรรมดาสามัญ


การเสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๕ วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ เสด็จพระราชดำเนินมายังอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อพระราชทานพระพุทธวราชบพิตร ให้ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี แทนการพระราชทานพระแสงราชศาสตรา ที่พระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ ได้พระราชทานให้เมืองต่างๆ ดังเช่นในอดีตเสร็จพิธี ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์ ไปยังอำเภอพระแสง มีชาวบ้านมาเฝ้ารับเสด็จเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นครั้งแรกของชาวอำเภอพระแสงที่ได้ชื่นชมพระบารมีของพระองค์ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับนายชินพัชร ทิพยรัตน์ นายอำเภอพระแสงว่า “การที่นายอำเภอวางโครงการให้ราษฎรทำถนนหนทางในท้องที่โดยการพัฒนาก็ดีอยู่แต่อย่าไปเกณฑ์เขา ให้เขาทำด้วยความสมัครใจ การทำด้วยแรงคนอีกนานกว่าจะได้ใช้ถนน เช่นที่บางสวรรค์เมื่อฉันกลับไปกรุงเทพจะดูเครื่องทุ่นแรงให้”


การเสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๖ หลังจากที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังอำเภอพระแสงเมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๑๑ นั้น พระองค์ได้สดับรับฟังปัญหา และทอดพระเนตรเห็นความทุรกันดารลำบากต่อการเดินทางของพสกนิกร ชั่วเวลาเพียง ๓ เดือน ในวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายัง อำเภอพระแสง เพื่อพระราชทานรถถากถาง (บูลโดเซอร์) หรือรถแทรกเตอร์ดีซี สำหรับใช้ในการพัฒนาเส้นทางคมนาคมติดต่อกับอำเภอพระแสง ซึ่งสมัยนั้นมีสภาพทุรกันดาร ไม่มีทางรถยนต์ติดต่อระหว่างเมืองต่อเมือง การคมนาคมต้องอาศัยได้ต้องอาศัยทางน้ำโดยตลอด แม้กระทั่งการนำรถถากถางมาพระราชทานให้ในวันนั้น ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์หิ้วเอามาหลังจากนั้นเป็นต้นมาประตูเมืองพระแสงได้ถูกเปิดออก และพัฒนาอย่างต่อเนื่องถือเป็นเมืองเศรษฐกิจด้านการเกษตรอีกเมืองหนึ่งของสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน


การเสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๗ วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๑๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังอำเภอคีรีรัฐนิคม ซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดารในขณะนั้นโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง ทางอำเภอคีรีรัฐนิคมได้สร้างพลับพลาที่ประทับเพื่อรับเสด็จ ณ บริเวณสถานีรถไฟ หลังจากเสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกร ทั้งสองพระองค์ได้ประทับเฮลิคอปเตอร์ไปยังบ้านไกรษร อำเภอคีรีรัฐนิคม แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับมายังสนามบินดอนนก อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฏร์ธานี เมื่อเวลา ๑๔.๐๐ น. ทรงประทับรถยนต์พระที่นั่งออกจากสนามบินดอนนก มาตามถนนสายดอนนกและถนนตลาดใหม่ เพื่อไปเสวยพระกระยาหาร ณ ศาลาประชาคม ที่ทางจังหวัดสุราษฎร์ธานีจัดถวายไว้ แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ


การเสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๘ วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังอำเภอดอนสักเพื่อทรงยกช่อฟ้าพระอุโบสถวัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วเสด็จไปทรงนมัสการหลวงพ่อจ้อย เจ้าอาวาสวัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ หลวงพ่อได้ถวายพระเครื่องควนเสมอ เรือหงส์มุก พร้อมตู้กระจกยาวหนึ่งเมตรครึ่ง แล้วทั้งสองพระองค์เสด็จ ลงจากพลับพลาเยี่ยมราษฎรที่มาเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดในปะรำบริเวณวัด ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวน ๕๐๐ บาท ให้ นางเอี่ยน เรืองแสวง ผู้ยากจนมีบุตร ๑๕ คนเพื่อบวชลูกชายในปีนั้น


การเสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๙ วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๑๕ เวลา ๑๔.๐๐ น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งจันทร มายังตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย แล้วประทับลงเรือยางเทียบชายหาดจากนั้นได้พระราชทานยารักษาโรค และของพระราชทานให้แก่ประชาชนที่มาเฝ้ารับเสด็จ ขณะเสด็จ ฯเยี่ยมราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทอดพระเนตรเห็นนายผล บุญสุข นั่งอยู่ใกล้ๆ จึงตรัสถามว่าอยู่ไหน ทำงานอะไร นายผล ทูลตอบว่า เป็นชาวสวนเนื่องจากไม่กล้าบอกว่าเป็นครู ด้วยความกลัวว่าพระองค์จะตรัสถามอะไรอีก แล้วจะตอบไม่ถูก นายผลเล่าต่อว่า “ในหลวงถามต่อว่า “อาชีพทำสวนมะพร้าว มีวิธีเก็บมะพร้าวอย่างไร” นายผล ทูลตอบว่า มี ๓ วิธี คือ ๑. ใช้เหล็กขอยึดติดกับไม้ไผ่แล้วสอยมะพร้าวลงมา ๒. ใช้คนปีนขึ้นไปเก็บ ๓. ใช้ลิงเก็บมะพร้าว พระองค์ทรงสนพระทัยจึงให้สาธิตการใช้ลิงเก็บมะพร้าวให้ดู หลังจากนั้น ได้ ทอดพระเนตรการสาธิตทำสวนมะพร้าวโดยใช้ลิง เก็บมะพร้าว พระองค์ทรงสนพระทัยเป็นอย่างยิ่งและพอพระราชหฤทัยที่ลิงสามารถฟังคำสั่งเจ้าของรู้เรื่อง ขณะนั้นมีชายกลางคนอยู่ใกล้ ๆ พระองค์ท่านถือกล้วยน้ำว้าอยู่ พระองค์จึงบอกให้เอากล้วยให้ลิง ชายคนดังกล่าวจึงโยนกล้วยให้ลิงครั้งละหนึ่งลูก พระองค์จึงตรัสว่า “ให้ไปทั้งหวีเลย”


การเสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๑๐ วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเทพรัตนสุดา เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดสมัยสุวรรณ ตำบลสองแพรก อำเภอพระแสง (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับอำเภอชัยบุรี) แล้วเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยี่ยนราษฏร หมู่บ้านโตรม ตำบลสองแพรก อำเภอพระแสง (ชัยบุรี) 
การเสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๑๑ วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๑๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายัง ตำบลไทรขึง อำเภอพระแสง นับเป็นครั้งที่สี่ที่ ชาวอำเภอพระแสงได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพระองค์ทรงสนพระทัยในการพัฒนาอำเภอพระแสงอย่างต่อเนื่อง หลังจากพระราชทานรถถากถางให้มาในครั้งก่อนในวันดังกล่าวทั้งสองพระองค์ ได้มีปฏิสันถารกับพระภิกษุสงฆ์ถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ พร้อมทั้งเสด็จออกเยี่ยมราษฎรและพระราชทานสิ่งของอาทิ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค กระทั่งได้เวลาจึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ 
การเสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๑๒ วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๑๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเทพรัตนสุดา เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัลักษณ์ เสด็จพระราชดำเนินมายัง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งขณะนั้นเป็นอีกอำเภอหนึ่งที่มีภัยจากผู้ก่อการร้าคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น แต่ด้วยพระมหาธิคุณ อันเป็นศูนย์รวมของชาวไทยทุกคน พระองค์ได้เสด็จมาพระราชทานธงประจำรุ่นให้แก่กองลูกเสือชาวบ้านเพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจ


การเสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๑๓ วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ขณะนายแพทย์พนัส อุทโยภาส เป็นผู้อำนวยการ ได้กล่าวว่าเป็นการเสด็จฯโดยไม่ทราบล่วงหน้าเนื่องจากทรงทราบว่ามีตำรวจ ทหาร และลูกเสือชาวบ้าน ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกับผู้ก่อการร้าคอมมิวนิสต์ จึงพระราชประสงค์เยี่ยมบุคคลเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง ซึ่งขณะนั้นพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเขตพื้นที่อันตรายจากภัยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่มาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล น้ำพระทัยของพระองค์ยิ่งใหญ่ที่สุดจะพรรณนา


การเสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๑๔ วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๑๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วย พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเทพรัตนสุดา เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ เสด็จพระราชดำเนินมายังวัดเขาสุวรรณประดิษฐ์ อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื่องจากในอดีตอำเภอดอนสัก เป็นอีกอำเภอหนึ่งที่การคมนาคมไม่สะดวก พระครูประดิษฐการ (หลวงพ่อจ้อย) ปลัดนรลักษณ์ สร้างทองดี ได้นำความกราบทูลถึงปัญหาสี่ประการของอำเภอดอนสักคือ ความลำบากเรื่อง น้ำ ไฟ ถนน และการลอกปากคลอง ต่อพระองค์เจ้าฟ้าหญิงวิภาวดีรังสิต จึงได้กราบทูลต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยพระปรีชาสามารถในการมองเห็นปัญหาและวิธีแก้ไขอันดับแรกและสำคัญ คือปัญหาแหล่งน้ำบริโภค จึงรับสั่งให้หม่อมหลวงทวีสันต์ ราชเลขาธิการสำนักพระราชวังเป็นผู้ประสานการจัดสร้างประปาผิวพื้นขึ้น โดยมอบหมายให้ กรป.กลาง และกรมชลประทานรับผิดชอบดูแล จนกระทั่งเสร็จในปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ทำให้ชาวอำเภอดอนสักมีน้ำสะอาดบริโภคมาถึงปัจจุบัน จากนั้นพระราชทานธงประจำกองลูกเสือชาวบ้าน พร้อมทอดพระเนตรการแสดงของลูกเสือชาวบ้านในชุดต่างๆ


การเสด็จพระราชดำเนินครั้งที่ ๑๕ เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนิน เปิดเขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขื่อนรัชชประภา เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๕ แล้วเสร็จในเดือนกันยายน ๒๕๓๐ มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า เขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ แห่งที่สองของภาคใต้ อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามให้ใหม่ว่า “ เขื่อนรัชชประภา” มีความหมายว่า“แสงสว่าง แห่งรัชกาล”ทุกย่างพระบาทพระองค์ แสดงถึงพระราชอุตสาหะอันแรงกล้าในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์แห่งปวงทั้งหลาย แต่ครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินล้วนเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้งด้านการศึกษา การศาสนา วัฒนธรรม การพัฒนาแหล่งน้ำ เส้นทางคมนาคม ฯลฯ และทรงเป็นมิ่งขวัญ เป็นศูนย์รวมใจของทุกคนแม้ในยามที่สภาพบ้านเมืองใช่วงเวลาหนึ่งของสุราษฎร์ธานีจะเป็นดินแดนจากภัยผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ แต่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยมิย่อท้อหรือหวั่นเกรงภัยอันตรายใดๆ แม้ในถิ่นทุรกันดารหรือป่าพงพี ชาวสุราษฎร์ธานี ขอถวายความจงรักภักดี ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน


รวบรวมข้อมูล โดย นางเริงจิรา ศยามล 
นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ สนับสนุนข้อมูลจาก นายทศพล งานไพโรจน์ นายกเทศมนตรีเมืองท่าข้าม